ความเป็นมางานบุญประเพณี "ผ้าป่า ๑๒ เมษาฯ"

ความเป็นมางานบุญประเพณี “ผ้าป่า ๑๒ เมษาฯ”

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ชาติไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจเป็นหนี้สินต่างชาติมหาศาล องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เปรียบเป็น “สงครามเศรษฐกิจ” ด้วยเมตตาธรรมจึงเสียสละออกมาเป็นผู้นำใน “โครงการช่วยชาติ” เทศนาธรรมนำชาวไทยให้รักชาติ พร้อมเพรียงสามัคคี และเสียสละช่วยกันบริจาคทองคำและเงินดอลลาร์เข้าสู่คลังหลวง เพื่อเป็นหลักประกันของชาติสืบไป

“โครงการช่วยชาติ” ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๑ ณ สวนแสงธรรม กทม. โดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี เสด็จเป็นองค์ประธานฝ่ายฆราวาส โครงการได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากพระสงฆ์และประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ พี่น้องชาวไทยทุกหมู่เหล่ามีน้ำใจเสียสละเพื่อชาติ จนบังเกิดผลานิสงส์ยิ่งใหญ่ค้ำชาติไทยให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว

“โครงการช่วยชาติ” ได้มีพิธีปิดอย่างเป็นทางการ ณ สวนอัมพร กทม. เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน แม้โครงการจะปิดลง แต่ความห่วงใยขององค์หลวงตาต่อชาติและต่อ “คลังหลวง” หรือ “ทุนสำรองเงินตรา” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงของชาติ กลับมิได้ลดน้อยถอยลงไปด้วย

สืบหน่อต่อแขนงคลังหลวง

ผู้มีอำนาจชุดต่างๆ ในหลายวาระ มักสำคัญผิดคิดหาอุบายแก้กฎหมาย(พระราชบัญญัติเงินตรา) หวังล้วงเอาสินทรัพย์ใน “คลังหลวง” ไปใช้ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ มาหลอกล่อประชาชน อาทิ เพื่อนำไปลงทุนให้ได้ดอกผลเพิ่มขึ้นบ้าง ลดหนี้สาธารณะบ้าง พัฒนาประเทศบ้าง ตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งบ้าง แก้ปัญหาภัยธรรมชาติบ้าง หรือแม้กระทั่งข้ออ้างที่ว่ามิได้นำไปใช้จริง แต่เป็นเพียงปรับตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าข้อกล่าวอ้างใด ต่างก็เป็นเหตุแห่งภยันตรายต่อคลังหลวงทั้งสิ้น ดังนั้น งานปลุกจิตสำนึกชาวไทยให้รู้จักเคารพและปฏิบัติตามธรรมแห่งการรักษา “คลังหลวง” จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์หลวงตายังต้องรับบริจาค “ทองคำน้ำไหลซึม” เข้าสู่คลังหลวงเรื่อยมาแม้จะมีพิธีปิดโครงการแล้ว ดังเทศนาเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๘ ที่ว่า

“เมื่อยังพอเป็นไปได้อยู่เราจึงได้พิจารณา ประสานให้มันค่อยเป็นไปๆ อย่างนี้ เป็นประเภททองคำน้ำซับน้ำซึมไป มันก็ไม่ได้ล่าได้สายอะไรนี่ ไม่รีบไม่ด่วนไม่เร่ง ค่อยเป็นค่อยไป มันก็ค่อยมา .. เราต้องคิดซิ เราอยู่ในบ้านอยู่ในเมือง อยู่ในชาติของเรา เราต้องคิดถึงบ้านถึงเมืองถึงชาติของเรา สังคมครอบครัวของเรา คิดย้อนหน้าย้อนหลังซิเราเป็นเจ้าของ จะอยู่เฉยๆ ไม่เหมาะนะเราเป็นเจ้าของ

ปู่ย่าตายายที่ท่านพาถ่อพาพายมาท่านเป็นเจ้าของมา ท่านรับผิดชอบมาเรื่อยๆ แล้วพวกเราลูกหลานไม่รับผิดชอบต่อสายกันไปมันก็ฉิบหายได้ ต้องต่อสืบทอดกันไปต้องคิดพวกเรา คิดทุกคนนะ คิดเพื่อความแน่นหนามั่นคงแห่งชาติของตน แล้วยังต้องคิดถึงความสงบสุขของบ้านเมืองอีก ต้องคิดหลายแง่หลายทาง อย่าเอาแต่ความอยากความทะเยอทะยาน ความเอาตามใจชอบๆ ความตามใจชอบมันมีแต่ฝ่ายต่ำนะ ไม่ได้มีฝ่ายสูงคือธรรมแทรกเลย ถ้ามีธรรมแทรกเข้าไป ถึงฝืนก็ฝืนเป็นยาๆ ไปเรื่อย ขมก็ขมเป็นยา เป็นอย่างนั้นนะ จึงควรพิจารณาพี่น้องทั้งหลาย”

จากนั้น ๒ ปี ๔ เดือน ก่อนจะละขันธ์ องค์หลวงตาได้เทศนาตอกย้ำความสำคัญของ “คลังหลวง” อยู่เนืองๆ ดังเช่นเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๑ เมตตากล่าวว่า

“ให้พี่น้องทั้งหลายช่วยกันนะ หลวงตาบัวไม่นานก็จะตาย ลูกหลานทั้งหลายไม่ตายให้ได้อาศัยนี้ หลวงตาพาพี่น้องทั้งหลายช่วยหาสมบัติอันสำคัญเข้าสู่คลังหลวงของเรา เพื่อให้ลูกหลานเราได้ ‘สืบหน่อต่อแขนง’ ต่อไปอีก ที่เราได้มานี้ปู่ย่าตายายของเราหามาไว้ให้ ทีนี้ก็ให้สืบทอดกันไป อย่าให้กุดให้ด้วนไป ของเก่าที่ได้มากินหมด ของใหม่ไม่มีไม่ได้นะ ต้องหาของใหม่มาเพิ่มเข้าไป”

แม้ในวาระสุดท้าย วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นวันนิพพาน สื่อมวลชนทุกสายได้พากันประกาศ “พินัยกรรม” ขององค์หลวงตาดังกึกก้องกังวาลไปถ้วนทั่ว นับเป็นการเสียสละอย่างอุกฤษฏ์ ยกเอาพระสรีระสังขารที่หมดลมหายใจเข้ามาโอบอุ้มคุ้มครอง “คลังหลวง” อยู่ต่อไปอีกตราบกัลปวสาน

ด้วยความเข้มแข็งจริงจังอย่างต่อเนื่องขององค์หลวงตาเช่นนี้สามารถบริจาค “ทองคำ” เข้าสู่คลังหลวงได้ทั้งสิ้นมากถึง ๑๓ ตัน เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา(รวมดอกเบี้ย) ๑๐,๘๐๓,๖๐๐ เหรียญ

“ใบตาย” ชาติไทย : ปฏิบัติบูชา รักษา “คลังหลวง”

ด้วยความเคารพบูชาในโอวาทคำสอนที่ตอกย้ำเรื่อยมา และเพื่อสืบสานปณิธานขององค์หลวงตาให้ธำรงอยู่คู่ชาติไทยสืบไป คณะศิษยานุศิษย์จึงเห็นพ้องต้องกันว่า พวกเราจักตอบแทนพระคุณด้วยการปฏิบัติบูชาตามโอวาทคำสอน โดยพร้อมใจกันบำเพ็ญทานสืบสานประเพณีอันดีงามที่ได้เมตตาพาดำเนินมานี้ ให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติศาสน์กษัตริย์ไทยสืบไป จักมิถือเอาความมากน้อยของปัจจัยเป็นประมาณให้เหนือกว่าการมุ่งปฏิบัติตามอรรถธรรมที่พร่ำสอนไว้ อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อองค์หลวงตา ต่อบรรพบุรุษ และต่อบูรพมหากษัตริย์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมที่งดงามที่สุด ให้สมกับความเสียสละของบรรพชนไทยและความเมตตาขององค์หลวงตาที่แม้ชราภาพ เจ็บป่วย หรือละขันธ์ ก็ยังเมตตานำพาคนไทยให้รู้จักความรักชาติ การเพิ่มพูนรักษา “คลังหลวง” สมบัติของชาติชนิดเอาชีวิตเข้าแลกแทนได้

ประการสุดท้าย เพื่อกุลบุตรสุดท้ายภายหลังเกิดไม่ทันหรือตกหล่นมิได้เข้าร่วมในกองบุญมหากุศลเพื่อคนทั้งแผ่นดินที่มีองค์หลวงตาเป็นผู้นำ เป็นการเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมแห่งการเพิ่มพูนและปกป้อง “คลังหลวง” ให้อยู่ยืนยงคู่ชาติศาสน์กษัตริย์เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานรุ่นแล้วรุ่นเล่าตลอดไป จักมิยอมให้ผู้ใด/คณะบุคคลใด เข้ามาแตะต้องทำลาย “คลังหลวง” โดยเด็ดขาด ตราบที่ประเพณี “ผ้าป่า ๑๒ เมษาฯ” ยังดำรงอยู่ การจะเข้ามาแตะต้องคลังหลวงย่อมมิอาจกระทำโดยง่ายตราบนั้น ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปจะได้รู้จักและเห็นความสำคัญของคลังหลวง เห็นถึงความเสียสละและคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของบรรพชนนำโดยองค์หลวงตาที่มีต่อชาติไทยเรา ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่ว่าสมัยใด ก็จักได้ตระหนักรู้จักระมัดระวังในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ของแผ่นดินกองนี้ พระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาจักสะเทือนสะท้านเลื่อนลั่นอยู่ตลอดนิจนิรันดร์กาลว่า

“คลังหลวงคือหัวใจของชาติ หากคลังหลวงกุดด้วนไปเมื่อใด เมื่อนั้นหลวงตาเขียน ‘ใบตาย’ ให้กับชาติไทยในทันที”

วัตถุประสงค์

๑. ร่วมใจกันบริจาคสินทรัพย์เข้าสู่คลังหลวง เป็นการแสดงความรัก ความพร้อมเพรียงสามัคคี และความเสียสละเพื่อชาติ เงินบริจาคมาก/น้อย ไม่สำคัญยิ่งกว่าการได้ทำหน้าที่เพื่อชาติ

๒. สืบทอดเจตนารมณ์องค์หลวงตาให้เป็นประเพณีแห่งมหาทานมหากุศลเพื่อชาติเป็นประจำทุกปี เป็นการรำลึกถึงคุณูปการและตอบแทนพระคุณขององค์หลวงตา บรรพชน และบูรพมหากษัตริย์ไทย ที่เสียสละเลือดเนื้ออวัยวะและชีวิตได้เพื่อชาติ

๓. ร่วมแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่องค์หลวงตาพระอรหันต์สมัยกึ่งพุทธกาลผู้เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพบูชาอย่างสุดหัวใจ

๔. เปิดโอกาสให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลังที่เกิดไม่ทันหรือไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกองบุญที่องค์หลวงตาเป็นผู้นำ ผู้ก่อตั้ง และผู้กอบกู้

๕. เป็นการตอกย้ำและประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า จะมิยอมให้ผู้ใด/คณะบุคคลใดเข้ามาแตะต้องหรือทำลายคลังหลวงอย่างเด็ดขาด พวกเราจักมีสามัคคีธรรมร่วมกันสืบทอดประเพณีรักษาคลังหลวงให้ธำรงอยู่คู่สถาบันหลักของชาติ

คณะศิษย์ทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันจัดงานบุญประเพณี “ผ้าป่า ๑๒ เมษาฯ สืบหน่อต่อแขนงคลังหลวง บูชาคุณองค์หลวงตา” เป็นปฐมฤกษ์ในปี

WP Radio
WP Radio
OFFLINE LIVE
Scroll to Top
Scroll to Top